วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

วัวลาน (สายเลือดแท้ของไทย)

จากบทความที่แล้วเรื่องวัวไทย ผมได้ติดค้างว่าจะนำวัวของลุงเบิ้ม หรือคุณลุงประยงค์ ประยงค์ตระกูลมาฝากกันในบทความนี้ แต่ก่อนอื่นมาดูประวัติของวัวลานกันก่อนแล้วกัน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร (ข้อมูลจาก วิกิพิเดีย)

วัวลาน หรือ วัวระดอก เป็น การละเล่นพื้นบ้านในภาคกลางของไทย โดยใช้วัวพันธุ์ไทย มักจะเล่นในเวลากลางคืน เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ทำงานในตอนกลางวัน การเล่นวัวลานใช้วัวที่มีอายุประมาณ 5-9 ปี วัวแต่ละตัวจะมีเครื่องประดับวัวที่สวยงาม สำหรับสถานที่เล่นวัวลานนั้น นิยมเล่นกันในผืนนาที่ร้างไม่มีการทำนาหรือที่บริเวณกว้างและเรียบ

ประวัติ

การปลูกข้าวอาชีพหลักของคนไทยส่วนใหญ่ และชาวนาไทยก็ได้อาศัยแรงงานจากวัวไถคราด และงานอื่นๆ นอกผืนนา เช่น งานนวดข้าว ทำนาโดยใช้แรงงานจากวัว มานานถึงประมาณ 5,000 ปี เพราะวัวเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่ มีแรงมาก เชื่อง ฝึกง่าย และกินหญ้าและฟาง วัวที่ใช้งานส่วนใหญ่ จะเป็นวัวตัวผู้ที่ตอนแล้ว ส่วนวัวตัวเมียเลี้ยงไว้ขยายพันธุ์แล้วขายหารายได้ การใช้งานวัวของชาวนา วัวคู่หนึ่งสามารถไถนาได้เนื้อที่ ประมาณ 20 ไร่ การเล่นวัวลาน ได้มีวิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าว เพราะลักษณะลานนวดข้าวเป็นวงกลมเป็นดินเหนียวที่อัดแน่นเป็นพื้นเรียบ แล้วส่วนใหญ่ชาวนาจะทาพื้นด้วยมูลวัวอีกทีหนึ่ง วิธีการนวดข้าวนั้น ชาวนาจะแยกเมล็ดข้าวออกจากรวงหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว โดยใช้แรงวัวมาช่วยนวดข้าว ชาวนาจะผูกวัวเรียงเป็นแถวหน้ากระดานไว้กับเสากลางลานบ้าน วัวที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลาง ไม่ต้องใช้กำลังและฝีเท้ามาก เพราะอยู่ในช่วงหมุนรอบสั้นวนเป็นรอบ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะหลุดออกจากรวงข้าวหมด แต่วัวตัวที่อยู่นอกสุดอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง ระยะทางที่ต้องหมุนจะยาวกว่า จึงต้องเลือกวัวตัวที่มีกำลังและฝีเท้าดีด้วยเหตุนี้ วัวหมุนรอบและเหยียบย่ำจนเมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าว เมล็ดข้าวเปลือก วัวหมุนรอบและเหยียบย่ำจนเมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าว เมล็ดข้าวเปลือกจะหล่นบนพื้นลานที่ปราบไว้ดีแล้ว การนวดข้าวจึงเกิดการละเล่นพื้นบ้านวัวลาน

วัวลานในปัจจุบัน

การวัวลานในปัจจุบันนิยมเล่นในงานวัด เพื่อหารายได้ให้ทางวัด และในท้องนา จะเริ่มเล่นกันประมาณเวลา 22:00 - 8:00 น. วัวทั้งหมดจะวิ่งเป็นวงกลมรอบๆลานซึ่งมีเสาอยู่ตรงกลาง จะมีสองกลุ่ม ทั้งหมดมี 19 ตัว เรียกว่า วัวนอก กับ วัวคาน วัวคานจะมี 18 ตัว (ตัวที่ 18 เรียกว่า วัวรอง) นำวัวคาน 18 ตัว มาผูก แล้วก็จะมีการต่อรองราคา (เพราะความเห็นไม่ตรงกัน)ของผู้ชมและเจ้าของ เมื่อการต่อรองเสร็จสิ้น ก็จะ นำวัวนอก (ตัวที่ 19) มาผูกวิ่งเป็นวงนอกสุด (ซึ่งมีระยะการวิ่งไกลมาก) หลังจากนั้นก็ปล่อยให้มันวิ่ง แล้วก็ใช้เหล็กแหลมแทงมันเพื่อกระตุ้นพลัง การแพ้ชนะคือ เช่น วัวนอกหมดแรง หรือ วัวคานเชือกหลุด หรือวัวรองโดนวัวนอกแซงแล้วเบียดเข้ามาข้างในแทนตำแหน่งที่ 18

การเตรียมความพร้อมของวัว

เจ้าของวัวจะนำวัวของตนเอวมารวมกันแล้วต้อนขึ้นรถยนต์ ซึ่งเป็นรถบรรทุก จะบรรทุกวัวไปยังสถานที่เล่นวัวลานตามที่นัดหมาย ซึ่งเรียกกันว่า "ลานวัว" ระหว่างทางก็จะมีการโห่ร้องอย่างสนุกสาน เพื่อให้เกิดความครึกครื้น วัวอยู่ตรงกลางรถ คนจะอยู่ที่ท้ายรถ และด้านบนของหัวรถ เมื่อไปถึงลานวัวเป็นเวลาที่พลบค่ำ เจ้าของวัวจะนำวัวลงจากรถบรรทุกนำไปผูกไว้ยัง "ราวผูกวัว" ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้จัดให้มีการเล่นวัวลานเป็นผู้จัดเตรียมไว้ ซึ่งก็จะอยู่ติดกับ "ลานวัว"

สถานที่เล่นวัวลาน

สถานที่เล่นวัวลาน คือ ผืนนาที่ร้าง ไม่มีการทำนา หรือลานที่ว่างโล่ง เนื้อที่ประมาณ 350 – 400 เมตร จุดศูนย์กลางที่ให้วัววิ่งจะมีเสา ซึ่งเป็นหลักให้วัววิ่ง เรียกว่า "เสาเกียรติ" "เสาเกียด?" ลานนวดข้าว ปักเสาเกียดไว้ตรงกลาง


เครื่องประดับวัว




ผมได้ไปถ่ายภาพที่ฟาร์มของลุงเบิ้ม แล้วก็ได้คุยกันได้ 2-3 นาที พอดีลูกค้าของลุงเบิ้มก็มาขอซื้อวัวลาน ก็ได้ภาพเด็ดมาฝาก และผมก็ได้ข้อมูลมาว่า ฟาร์มของลุงเบิ้มเป็นฟาร์มวัวลานที่ใหญ่ที่สุดในกำแพงแสนแล้วและก็เป็นวัวลานสายเลือดแท้ดั้งเดิมของไทย ส่วนใหญ่สายพันธุ์ที่ลุงเบิ้มมีอยู่เป็นประเภทระดับแชมป์ทั้งนั้น จึงได้สายพันธุ์ดี ดูจากการที่ลูกค้าเข้าไปจับวัวก็แล้วกัน ผมก็มีคลิปมาฝากด้วย ซึ่งผมฟังแก่เล่าประวัติตอนที่ไปหาซื้อวัวลาน แก่บอกว่าลุงรู้หมดว่า ลุงเบิ้มบอกว่า "ที่ไหนมีสายพันธุ์ดั้งเดิม เพราะผมเล่นมาตั้งแต่หนุ่มๆ ก็เลยรู้ว่าใครเลี้ยงไว้บ้าง ที่ไปซื้อได้ก็เพราะเขาเลิกเลี้ยงหันไปเลี้ยงวัวนอกแทน ผมก็เลยไปซื้อมาหมด บางฝูงนี่กำลังเข้าโรงฆ่าเลย ผมก็ไปตามเอามา" ผมฟังแล้วทึ่งมาก ลุงแก่มีความพยายามจริงๆ ตอนนี้ก็เห็นผลของความพยายามแล้ว ในขณะที่ราคาของวัวเนื้ออื่นๆ ราคาตก ของลุงเบิ้มกับราคากับสูงอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าใครที่ชอบวัวลานอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมก็ติดต่อไปที่ลุงเบิ้มได้นะครับ ที่เบอร์ 0802566718, 0899844615

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกษตรไทยกับไคโตซาน

ตอนนี้เรื่องการเกษตรกำลังบูมน่าดู ตลาดคึกคักจริงๆ ผมไปเที่ยวมาหลายจังหวัด โดยเฉพาะมาที่จังหวัดนครสวรรค์ เห็นชาวนากำลังเกี่ยวข้าวอยู่พอดี ก็เลยนึกสนุกอยากเข้าไปดูใกล้ๆ โอโห้พึ่งรู้ว่ากว่าจะได้ข้าวมากินเนี้ย หลายขั้นตอนจริงๆ แล้วก็ได้ศัพท์ใหม่ๆ สำหรับตัวผมนะ อย่างเช่น "ข้าวดีด, ข้าวเด้ง" แรกฟังดูงงๆ ข้าวดีดคืออะไร แถมมีข้าวเด้งอีกด้วย ชาวนาหรือเกษตรกรที่ผมคุยด้วย ชื่อ ลุงหน๋านหรือคุณลุงเจริญ อยู่ที่ ทับกฤษ จ.นครสวรรค์ ลุงหน๋านบอกว่าทำนาประมาณ 30 ไร่ ใช้พันธุ์ข้าวชัยนาท ลุงหน๋านทำนาปีละ 2 ครั้ง เพราะว่าทำ 3 ครั้งไม่ได้น้ำท่วม ผมก็เลยถามว่า "คราวนี้ลุงได้ข้าวดีไหมครับ" ลุงหน๋านตอบ "ดีกว่าเดิมเยอะเลยครับ เพราะคราวนี้มาได้ไคโตซานมาฉีดช่วยได้เยอะ" ไอ้ผมก็งงๆ รู้สึกว่าที่รู้เนี้ย ไคโตซานมันใช้ลดความอ้วนไม่ใช่เหรอ แล้วเอามาฉีดข้าวได้ไงเนี้ย ผมกลับมาที่บ้าน เข้าเน็ททันที โหกบในกะลาจริงๆ เข้าใช้ไคโตซานกับการเกษตรมาตั้งนานแล้ว ไม่รู้เรื่องเลย เอางั้นเผื่อว่าจะมีคนไม่รู้จักว่า ไคโตซานเขาทำมาจากอะไรบ้าง ผมขออาสาแนะนำก็แล้วกัน ไคโตซาน เท่าที่ผมอ่านข้อมูลในเน็ทอย่างเดียว ผลิตมาจากวัตถุดิบหลายชนิด มาดูกันซิว่า ไคโตซานคืออะไรแบบคร่าวๆ นะ

ไคโตซาน เป็นไบโอโพลิเมอร์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญในรูปของ D – glucosamine พบได้ในธรรมชาติ โดยเป็นองค์ประกอบอยู่ในเปลือกนอกของสัตว์พวก กุ้ง ปู แมลง และเชื้อรา เป็นสารธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว คือ ที่เป็นวัสดุชีวภาพ ( Biometerials ) ย่อยสลายตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยในการนำมาใช้กับมนุษย์ ไม่เกิดผลเสียและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดการแพ้ ไม่ไวไฟและไม่เป็นพิษ ( non – phytotoxic ) ต่อพืช นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเพิ่มปริมาณของสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างในเรื่องการเกษตร

1. ยับยั้งและสร้างความต้านทานโรคให้กับพืช
2. ทำให้เกิดโอกาสการสร้างความต้านทานของพืชต่อแมลงศัตรูพืช
3. ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน

คุณประโยชน์เหลือร้ายอย่างนี้เกษตรกรก็คงได้ลืมตาอ้าปากกันได้คราวนี้แหละ แต่ไอ้ที่งงๆ อยู่ก็ไอ้วัตถุดิบที่ผลิตมาเป็นไคโตซานเนี้ย ก็เห็นผลิตมาจากเปลือกปู เปลือกกุ้งกันซะส่วนใหญ่ แต่ไอ้ตัวหลังเนี้ย ที่ว่าผลิตจากเชื้อรา มันผลิตมายังไง และที่พอรู้จากข้อมูลวงในมาว่า ผลิตจากเชื้อราเนี้ยให้ผลดีที่สุดเสียด้วย ไว้คราวหน้าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตไคโตซานจากเชื้อรามาฝากก็แล้วกัน...


ปลาแขยง

ปลาแขยง ปลาน้ำจืดของไทยที่มีอยู่ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง หน้าตาก็อย่างที่เห็นในภาพ แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนไทยหลายคนไม่รู้จักปลาแขยงแล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ คงเป็นเพราะว่าเราไม่เห็นหน้าตาเจ้าปลาแขยงนี้มานานแล้วก็ได้ แต่ถ้าเราไปต่างจังหวัด ไปที่ตลาดสดก็ยังมีให้เห็นกัน ปลาแขยงเอามาทำกับข้าวอะไรก็อร่อย ส่วนตัวชอบเอามาทอดและก็มาทำฉู่ฉี่ โอโห้อร่อยมาก สุดๆ ไปเลย มาดูกันหน่อยซิว่าปลาแขยงมีลักษณะอย่างไรบ้าง มีกี่ชนิด

ปลาแขยง ปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด หนวดยาว มีครีบหลังอันแหลมคม ครีบหูทั้งสองมีเงี่ยงแหลม พบตามแหล่งน้ำไหล แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึงทั่วไปทุกภาค ปลาแขยง มีมาให้รู้จักกัน 3 ชนิด คือ ปลาแขยงธง ปลาแขยงข้างลาย ปลายแขยงใบข้าว แต่ปัจจุบันนี้ปลาแขยงหากินได้ ยากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปลาแขยงธงนั้นหากินกันแทบไม่ได้แล้ว ยังคงมีแต่ปลาแขยงใบข้าว และปลาแขยงลายให้กินกันเท่านั้น ปลาแขยงแต่ละชนิดมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน ปลาแขยงข้างลาย มีขนาดค่อนข้างเล็ก ลำตัวป้อมสั้น ด้านข้างแบน หัวแหลม ปากเล็ก มีหนวด ครีบหลังมีก้านเดี่ยวแข็งและแหลมคมหนึ่งอัน ครีบหูสองข้างมีเงี่ยงแหลม มีแถบสีขาวเงิน 2 แถบพาดไปตามยาวของลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาลปนดำเข้ม ปลาแขยงธง เป็นปลาแขยงขนาดเล็ก มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวด้านข้างแบน หัวเล็ก ตาค่อนข้างโต ปากค่อนข้างเล็ก มีหนวด ครีบหลังมีขนาดใหญ่ และยาวสูงเด่นคล้ายชายธง ครีบหูมีเงี่ยงแหลมคมสองข้าง ครีบไขมันมีขนาดใหญ่และยาว ครีบหางเว้าลึก แพนหางส่วนบนมีปลายยาวเป็นเส้นรยางค์ ปลาแขยงใบข้าว เป็นปลาแขยงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลำตัวค่อนข้างกลมและยาว หัวค่อนข้างเล็ก ปากทู่ มีหนวด ครีบหลังปลายยาวเป็นกระโดงสูง ครีบหูมีก้านเดี่ยวแข็งและแหลมคมข้างละอัน ครีบไขมันใหญ่และยาว แพนครีบหางอันบนมีปลายยาวเรียวเป็นรยางค์ ลำตัวส่วนบนมีสีเทาอมฟ้า ด้านหลังเข้ม และสีจะค่อยจางลงถึงบริเวณท้องแล้วเปลี่ยนเป็นสีครีบหรือสีขาว

ก็พอทราบกันคร่าวๆ แล้วว่า ปลาแขยงมีลักษณะอย่างไร หน้าตายังไง แต่ที่แน่ๆ มีเจ้าปลาพวกนี้อยู่ในแม่น้ำลำคลองเยอะๆดี รู้ไหมทำไม แม่น้ำลำคลองของเราก็จะสะอาด เพราะว่ามันมีนิสัยกินซากพืชซากสัตว์ กินเก่งแบบรุมขยุมกันนัวเนีย เคยเห็นมันรุมหมาเน่าในแม่น้ำครั้งหนึ่ง กินปลาแขยงไม่ได้ไปหลายเดือน ....

แกงฉู่ฉี่ปลาแขยง อีกหนึ่งเมนู อาหารไทยดั้งเดิม

ส่วนประกอบ
ปลาแขยงสด 1/2 กิโลกรัม
มะพร้าวขูด 400 กรัม
ใบมะกรูดหั่นฝอย 2 ใบ
ผักชีเด็ดเป็นใบ 1-2 ต้น
น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปีบ 2 ช้อนโต๊ะ
พริกแห้งแกะเมล็ดออกแช่น้ำ 5 เม็ด
ข่าหั่นละเอียด 1 ช้อนชา
ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ
หอมแดงซอย 7 หัว
กระเทียม 10 กลีบ
ผิวมะกรูดหั่นละเอียด 1/2 ช้อนชา
รากผักชีหั่น 1 ช้อนชา
เกลือป่น 1 ช้อนชา
กะปิ 1 ช้อนชา

วิธีการทำ
1. ล้างปลา ตัดหัว ควักไส้ออก บั้งเฉียงๆทั้งสองด้าน ไปทอดให้กรอบ
2. คั้นมะพร้าวใส่น้ำ 2 ถ้วย คั้นให้ไดกะทิ 3 ถ้วย ตั้งไฟให้เดือด หมั่นคน อย่าให้กะทิเป็นก้อน
3. ช้อนหัวกะทิใส่กระทะประมาณ 1 ถ้วย เคี่ยวให้แตกมัน ใส่น้ำพริกแกงที่โขลก ผัดจนหอม เติมกะทิที่เหลืออย่าใส่มากพอน้ำกระทิขลุกขลิก ตักใส่หม้อ ตั้งไฟ พอเดือดใส่ปลาแขยงที่ทอดแล้วลงไป
4. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ชิมรสเค็ม หวาน
5. ตักใส่จาน โรยใบมะกรูด ผักชี เสิร์ฟ

วัวไทย



วัวไทย หมายถึง วัวที่มีพื้นเพกำเนิดในประเทศไทย มีเลี้ยงกันกระจายทั่วไปในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยทั่วไปวัวเพศเมียมีมากกว่าเพศผู้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะวัวใช้งานโดยทั่วไปเป็นวัวตัวผู้ ซึ่งได้รับการตอนแล้ว
วัวไทยเป็นวัวขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับวัวพันธุ์อื่น ตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย ๓๐๐-๓๕๐ กิโลกรัม ตัวเมียโตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ๒๐๐-๒๕๐ กิโลกรัม วัวไทยมีกระดูกเล็บบอบบาง ใบหน้ายาว หน้าผากแคบ ตาขนาดปานกลาง ขนตามใบหน้าสั้นเกรียน จมูกแคบ ใบหูเล็กกะทัดรัด ปลายหูเรียวแหลม โดยทั่วไปมีเขาสั้นถึงยาวปานกลาง ตั้งแต่ ๑๕-๔๕ เซนติเมตร ตัวเมียมักมีเขาสั้นหรือไม่มีเขา เขามีลักษณะ ตั้งขึ้นโง้งงุ้มเข้าหากัน และยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย ลำคอบอบบาง ใต้คอมีเหนียงคอเป็นแถบลงไปถึงอกส่วนต่อระหว่างคอและไหล่มองเห็นได้ชัด เหนือไหล่ของวัวตัวผู้มีก้อนเนื้อ เรียกว่า โหนกหรือหนอก สันหลังลาดขึ้นจากโหนกไปสู่บั้นเอว แล้วลาดลงตามบั้นท้ายไปสู่โคนหาง ขายาว รูปร่างค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัวเนื้อพันธุ์ยุโรป พื้นท้องจากส่วนหน้าคอดกิ่วไปสู่ส่วนหลัง วัวตัวเมียมีเต้านมเล็กเป็นรูปฝาชี ให้นมน้อย
วัวไทยมีขนสั้นเกรียนทั่วตัว ขนมีสีต่าง ๆ ตั้งแต่ สีดำ สีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน สีฟาง สีเทาไปจนถึงสีลาย สีที่พบเห็นบ่อย ๆ คือ สีน้ำตาลอ่อน และสีดำ ขนใต้ท้อง และซอกขามักมีสีจางกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
โดยทั่วไป วัวไทยมีนิสัยขี้ตื่น ปราดเปรียวกว่าวัวพันธุ์อื่น แต่ถ้าเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด อาจเชื่องมากเหมือนกัน แม่วัวไทยเลี้ยงลูกดีแต่ให้นมน้อย เวลาคลอดใหม่ ๆ มักหวงลูกมาก และอาจมีนิสัยดุร้ายกับสุนัขหรือคนที่ไม่รู้จัก

ลูกวัวไทยแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ ๑๔-๑๕ กิโลกรัม ลูกวัวตัวผู้โตกว่าลูกวัวตัวเมีย
โดยทั่วไป ลูกวัวจะดูดนมแม่จนถึงอายุ ๘ เดือน จึงจะถูกแยกฝูง เพราะ แม่ให้นมน้อยหรือหยุดให้นม และลูกวัวเริ่มรู้จักหาหญ้ากินเอง หากปล่อยลูกวัวไว้กับแม่ ลูกวัวตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่โต อาจผสมพันธุ์กับแม่ของตัวเอง ทำให้ได้ลูกขนาดเล็กและอ่อนแอ หรืออาจผสมกับลูกวัวสาว อายุยังไม่เต็มวัย อาจเกิดผลเสียได้เช่นกัน

ลูกวัวที่ถูกแยกจากแม่เมื่ออายุประมาณ ๘ เดือน เรียกว่า ลูกวัวหย่านม น้ำหนักของลูกวัวหย่านมเฉลี่ยประมาณ ๑๑๒ กิโลกรัม หลังหย่านมแล้ว ลูกวัวไทยหาหญ้ากินเองในทุ่งลูกวัวหลังหย่านมจนถึงอายุ ๑-๒ ปี จะเติบโตประมาณวันละ ๒๐๐-๓๐๐ กรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของทุ่งหญ้า วัวไทยจะโตเต็มที่เมื่ออายุ ๔-๕ ปี

ซึ่งที่ได้นำข้อมูลของวัวไทยมาให้เรียนรู้กันนี้ ก็เพราะต้องการให้คนไทย ได้รู้จักวัวไทย ซึ่งในขณะนี้คนไทยหันไปเลี้ยงวัวนอก ซึ่งวัวไทยพันธุ์พื้นเมืองยิ่งหาดูได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ คนยังไม่รู้ว่า วัวไทยพันธุ์พื้นเมืองมีดีกว่าที่หลายคนคิด คนไทยคนหนึ่งที่ผมได้ไปสัมผัสมาคนหนึ่ง ก็คือ ลุงเบิ้ม คุณลุงประยงค์ ประยงค์ตระกูล คนไทยผู้อนุรักษ์วัวไทยพันธุ์พื้นเมืองใน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม คุณลุงเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนวัวไทยมีมากมาย แต่มาถึงยุคปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่หันไปเลี้ยงวัวพันธุ์นอกกัน อย่างเช่น วัวฮินดูบราซิล วัวบราห์มัน วัวพันธ์ชาโลเลส์ วัวเทกซัสลองฮอร์น วัววาจิว โกเบ วัวเฮียฟอร์ด วัวเบลเยี่ยนบลู ฯลฯ เขาว่าตัวใหญ่ ให้เนื้อเยอะ เลี้ยงง่าย ไม่ดื้อเหมือนวัวไทยพื้นเมือง แต่คุณลุงเบิ้มเป็นคนที่มองต่างมุม คุณลุงมองว่าวัวไทยในอนาคตจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจต่อไป ด้วยว่าวัวพันธุ์นอกหรือพันธุ์ผสมก็ดี ให้เนื้อเยอะก็จริง แต่เนื้อเหลวไม่อร่อย คนที่กินเนื้อจะรู้ดี และวัวไทยพันธุ์พื้นเมืองยังเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาพื้นเมือง อย่างวัวลาน, วัวชน หรือแม้แต่วัวพันธุ์ขาวลำพูน วัวไทยที่ใช้ในพิธีแรกนา ฯลฯ ยังทำให้คนไทยเกิดความสามัคคีไม่ตีกันเหมือนเดี๋ยวนี้ และวัวไทยพื้นเมืองเรื่องอาหารไม่ต้องเป็นห่วง ต้นทุนในการเลี้ยงก็ต่ำ ไม่ทำให้เกษตรกรเจ๊งหน้าแห้งไปตามๆกันเหมือนในปัจจุบัน ถ้าเกษตรกรไทยหันมาอนุรักษ์วัวไทยเหมือนกับคุณลุงเบิ้ม สิ่งที่มีค่าของเราจะไม่สูญหายไปตามกาลเวลา เหมือนๆสิ่งดีๆมีค่าของเราที่หายไปหลายอย่างแล้วครับ บทความหน้าผมจะไปคุยกับลุงเบิ้มแบบเจาะลึก พร้อมถ่ายภาพของลุงเบิ้ม วัวของลุงเบิ้ม อะไรๆของลุงเบิ้มมาให้ดูกันให้จุใจเลยครับ ติดตามตอนต่อไปเด้อครับ...