วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

วัวไทย



วัวไทย หมายถึง วัวที่มีพื้นเพกำเนิดในประเทศไทย มีเลี้ยงกันกระจายทั่วไปในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย โดยทั่วไปวัวเพศเมียมีมากกว่าเพศผู้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะวัวใช้งานโดยทั่วไปเป็นวัวตัวผู้ ซึ่งได้รับการตอนแล้ว
วัวไทยเป็นวัวขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับวัวพันธุ์อื่น ตัวผู้โตเต็มที่มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย ๓๐๐-๓๕๐ กิโลกรัม ตัวเมียโตเต็มที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ๒๐๐-๒๕๐ กิโลกรัม วัวไทยมีกระดูกเล็บบอบบาง ใบหน้ายาว หน้าผากแคบ ตาขนาดปานกลาง ขนตามใบหน้าสั้นเกรียน จมูกแคบ ใบหูเล็กกะทัดรัด ปลายหูเรียวแหลม โดยทั่วไปมีเขาสั้นถึงยาวปานกลาง ตั้งแต่ ๑๕-๔๕ เซนติเมตร ตัวเมียมักมีเขาสั้นหรือไม่มีเขา เขามีลักษณะ ตั้งขึ้นโง้งงุ้มเข้าหากัน และยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย ลำคอบอบบาง ใต้คอมีเหนียงคอเป็นแถบลงไปถึงอกส่วนต่อระหว่างคอและไหล่มองเห็นได้ชัด เหนือไหล่ของวัวตัวผู้มีก้อนเนื้อ เรียกว่า โหนกหรือหนอก สันหลังลาดขึ้นจากโหนกไปสู่บั้นเอว แล้วลาดลงตามบั้นท้ายไปสู่โคนหาง ขายาว รูปร่างค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัวเนื้อพันธุ์ยุโรป พื้นท้องจากส่วนหน้าคอดกิ่วไปสู่ส่วนหลัง วัวตัวเมียมีเต้านมเล็กเป็นรูปฝาชี ให้นมน้อย
วัวไทยมีขนสั้นเกรียนทั่วตัว ขนมีสีต่าง ๆ ตั้งแต่ สีดำ สีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน สีฟาง สีเทาไปจนถึงสีลาย สีที่พบเห็นบ่อย ๆ คือ สีน้ำตาลอ่อน และสีดำ ขนใต้ท้อง และซอกขามักมีสีจางกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
โดยทั่วไป วัวไทยมีนิสัยขี้ตื่น ปราดเปรียวกว่าวัวพันธุ์อื่น แต่ถ้าเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด อาจเชื่องมากเหมือนกัน แม่วัวไทยเลี้ยงลูกดีแต่ให้นมน้อย เวลาคลอดใหม่ ๆ มักหวงลูกมาก และอาจมีนิสัยดุร้ายกับสุนัขหรือคนที่ไม่รู้จัก

ลูกวัวไทยแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ ๑๔-๑๕ กิโลกรัม ลูกวัวตัวผู้โตกว่าลูกวัวตัวเมีย
โดยทั่วไป ลูกวัวจะดูดนมแม่จนถึงอายุ ๘ เดือน จึงจะถูกแยกฝูง เพราะ แม่ให้นมน้อยหรือหยุดให้นม และลูกวัวเริ่มรู้จักหาหญ้ากินเอง หากปล่อยลูกวัวไว้กับแม่ ลูกวัวตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่โต อาจผสมพันธุ์กับแม่ของตัวเอง ทำให้ได้ลูกขนาดเล็กและอ่อนแอ หรืออาจผสมกับลูกวัวสาว อายุยังไม่เต็มวัย อาจเกิดผลเสียได้เช่นกัน

ลูกวัวที่ถูกแยกจากแม่เมื่ออายุประมาณ ๘ เดือน เรียกว่า ลูกวัวหย่านม น้ำหนักของลูกวัวหย่านมเฉลี่ยประมาณ ๑๑๒ กิโลกรัม หลังหย่านมแล้ว ลูกวัวไทยหาหญ้ากินเองในทุ่งลูกวัวหลังหย่านมจนถึงอายุ ๑-๒ ปี จะเติบโตประมาณวันละ ๒๐๐-๓๐๐ กรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของทุ่งหญ้า วัวไทยจะโตเต็มที่เมื่ออายุ ๔-๕ ปี

ซึ่งที่ได้นำข้อมูลของวัวไทยมาให้เรียนรู้กันนี้ ก็เพราะต้องการให้คนไทย ได้รู้จักวัวไทย ซึ่งในขณะนี้คนไทยหันไปเลี้ยงวัวนอก ซึ่งวัวไทยพันธุ์พื้นเมืองยิ่งหาดูได้ยากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ คนยังไม่รู้ว่า วัวไทยพันธุ์พื้นเมืองมีดีกว่าที่หลายคนคิด คนไทยคนหนึ่งที่ผมได้ไปสัมผัสมาคนหนึ่ง ก็คือ ลุงเบิ้ม คุณลุงประยงค์ ประยงค์ตระกูล คนไทยผู้อนุรักษ์วัวไทยพันธุ์พื้นเมืองใน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม คุณลุงเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนวัวไทยมีมากมาย แต่มาถึงยุคปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่หันไปเลี้ยงวัวพันธุ์นอกกัน อย่างเช่น วัวฮินดูบราซิล วัวบราห์มัน วัวพันธ์ชาโลเลส์ วัวเทกซัสลองฮอร์น วัววาจิว โกเบ วัวเฮียฟอร์ด วัวเบลเยี่ยนบลู ฯลฯ เขาว่าตัวใหญ่ ให้เนื้อเยอะ เลี้ยงง่าย ไม่ดื้อเหมือนวัวไทยพื้นเมือง แต่คุณลุงเบิ้มเป็นคนที่มองต่างมุม คุณลุงมองว่าวัวไทยในอนาคตจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจต่อไป ด้วยว่าวัวพันธุ์นอกหรือพันธุ์ผสมก็ดี ให้เนื้อเยอะก็จริง แต่เนื้อเหลวไม่อร่อย คนที่กินเนื้อจะรู้ดี และวัวไทยพันธุ์พื้นเมืองยังเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาพื้นเมือง อย่างวัวลาน, วัวชน หรือแม้แต่วัวพันธุ์ขาวลำพูน วัวไทยที่ใช้ในพิธีแรกนา ฯลฯ ยังทำให้คนไทยเกิดความสามัคคีไม่ตีกันเหมือนเดี๋ยวนี้ และวัวไทยพื้นเมืองเรื่องอาหารไม่ต้องเป็นห่วง ต้นทุนในการเลี้ยงก็ต่ำ ไม่ทำให้เกษตรกรเจ๊งหน้าแห้งไปตามๆกันเหมือนในปัจจุบัน ถ้าเกษตรกรไทยหันมาอนุรักษ์วัวไทยเหมือนกับคุณลุงเบิ้ม สิ่งที่มีค่าของเราจะไม่สูญหายไปตามกาลเวลา เหมือนๆสิ่งดีๆมีค่าของเราที่หายไปหลายอย่างแล้วครับ บทความหน้าผมจะไปคุยกับลุงเบิ้มแบบเจาะลึก พร้อมถ่ายภาพของลุงเบิ้ม วัวของลุงเบิ้ม อะไรๆของลุงเบิ้มมาให้ดูกันให้จุใจเลยครับ ติดตามตอนต่อไปเด้อครับ...

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 สิงหาคม 2553 เวลา 21:03

    เป็นบทความที่ดีครับ เออ..พูดถึงลุงเบิ้มแล้วอยากรู้จักบ้านแก่จังว่าอยู่ที่ตรงไหนครับ เพราะบ้านผมก็อยู่ไม่ไกลจาก อ.กำแพงแสนเลยครับ พอมีข้อมูลไหมครับ

    ตอบลบ